ไส้เลื่อน ไม่ใช่เรื่องเล็ก พบได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง
เมื่อพูดถึงโรคไส้เลื่อนหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของผู้ชายเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วไส้เลื่อนก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงได้เช่นกัน ซึ่งโรคไส้เลื่อนนับเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม แต่ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
ไส้เลื่อน (Hernia) คืออะไร
คือ สภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องหรือเนื้อเยื่อบางส่วน เคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิม ผ่านผนังท้องที่บอบบางและอ่อนแอ (ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรง) ออกมานอกช่องท้อง จะสังเกตเห็นเป็นลักษณะก้อนๆ ตุง นูนออกมาจากท้องจนสังเกตหรือสัมผัสได้ โรคไส้เลื่อนไม่สามารถหายเองได้ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
โรคไส้เลื่อนมีกี่ชนิด
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศชาย โดยลำไส้หรือไขมันจะยื่นนูนออกมาเหนือบริเวณขาหนีบใกล้ต้นขาด้านใน
- ไส้เลื่อนบริเวณโคนขา มักพบในเพศหญิงสูงวัย
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ จะมีก้อนนูนบริเวณสะดือ
- ไส้เลื่อนกระบังลม บางส่วนของกระเพาะอาหารจะยื่นดันกระบังลมเข้าไปในทรวงอก
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด ก้อนนูนจะดันผ่านแผลผ่าตัดบริเวณหน้าผนังช่องท้องจากการผ่าตัดในอดีต
- ไส้เลื่อนหน้าท้องเหนือสะดือ เนื้อเยื่อไขมันดันผ่านผนังหน้าท้องบริเวณแนวดิ่งตรงกลางช่วงระหว่างกระดูกหน้าอกและสะดือ
- ไส้เลื่อนบริเวณด้านข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง จะพบได้ที่ขอบของกล้ามเนื้อท้องบริเวณต่ำกว่าสะดือ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไส้เลื่อน
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบเกิดจากการที่มีเนื้อเยื่ออ่อนแอแต่กำเนิด หรือเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการออกแรงเบ่งท้องเป็นเวลานาน เช่น การยกของหนักเป็นประจำ ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง หรือเบ่งปัสสาวะจากภาวะต่อมลูกหมากโต
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดืออาจเกิดจากการออกแรงเบ่งบริเวณช่องท้อง การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ การไอแรง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการคลอดบุตร
- ไส้เลื่อนกระบังลมอาจเกิดจากอายุที่มากขึ้นทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระบังลมลดลง
สังเกตได้อย่างไร ว่าเมื่อไรเป็นโรคไส้เลื่อน
อาการของโรคไส้เลื่อนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1.ระดับปกติ
- พบก้อน ตุง นูน ก้อนตุงนูนอาจเลื่อนเข้าออกได้ ปวดหรือไม่ปวดก็ได้
2.ระดับรุนแรง
- พบอาการเหมือนในระดับปกติ
- ลำไส้อุดตันหรือการอักเสบของลำไส้และช่องท้องร่วมด้วย มักพบในกลุ่มที่ปวดและก้อนไม่เลื่อนกลับเข้าที่
- ปวดท้องรุนแรง จากการที่ไส้เลื่อนติดคาคนไม่สามารถกลับเข้าช่องท้องได้
- หากรักษาอาจเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเน่าหรือติดเชื้อในกระแสเลือด
วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน
การเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย
วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
หากภาวะไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นสามารถดันกลับเข้าไปได้หรือในผู้ที่มีอายุมากแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
วิธีรักษาโดยการผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นการผ่าเปิดผิวหนังและเนื้อเยื่อที่ตําแหน่งบนไส้เลื่อน ศัลยแพทย์จะสามารถเห็นโครงสร้างภายในได้ครบถ้วน สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าที่ และเย็บผนังกล้ามเนื้อที่อ่อนแอเข้าด้วยกัน โดยอาจมีการใช้แผ่นตาข่ายพิเศษเสริมความแข็งแรง
- การผ่าตัดแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic Surgery) ศัลยแพทย์จะกรีดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในบริเวณที่ต้องการผ่าตัด วิธีนี้มีข้อดีในเรื่องระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลง ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และมีอาการปวด เลือดออก และรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัดน้อยลง
ไม่อยากเป็นโรคไส้เลื่อน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ไส้เลื่อนที่ไม่ได้มีสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิด การป้องกันโรคไส้เลื่อน ทำได้ด้วยการควบคุมไม่ให้เกิดแรงดันภายในช่องท้องมากผิดปกติ ได้แก่
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำ เพื่อลดอาการท้องผูก
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดการไอ และควรพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือยกของให้ถูกท่า ถูกวิธี
- ควรพบแพทย์หากจามหรือไอติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาการไอเรื้อรังจะไปกระตุ้นให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้
หากพบก้อนเนื้อ หรือมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่เพียงลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง
สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ. จักรกฤษ อุ้ยนิรันดรกุล แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมทั่วไป
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป